แก้ไขหูกาง การศัลยกรรมแก้ไขหูกาง

ปัญหาหูกาง

เป็นความผิดปกติของใบหู ที่มีมุมจากศีรษะกว้างกว่าปกติ ทำให้มีรูปร่าง ใบหูไม่ สวยงาม การศัลยกรรม สามารถแก้ไข ลักษณะหูกางผิดปกติ ได้โดยการเปิดตามแนวหลังใบหู เพื่อปรับแต่งเย็บกระดูกอ่อนของใบหู หรือ โดยการตัด กระดูกอ่อน บางส่วนของหูที่เป็นปัญหา เพื่อให้ได้รูปร่าง ที่ต้องการ

รูปร่างใบหูที่ดูสวยงาม ควรมีลักษณะ ดังนี้

  1. แนวโค้งของส่วนประกอบต่าง ๆ เป็นธรรมชาติ ไม่เด่นชัดเกินไป
  2. เวลามองหน้าตรงไบหูไม่ควรมองเห็นเด่นชัดมากกว่าส่วนอื่นของใบหน้า
  3. ขอบนอก ของใบหู (Helix) ควรมองเห็นชัดจากภาวะหน้าตรง การแก้ไขใบหูจนขอบกลางของใบหู (Ant helix) มีความโค้งชัดเจนมากกว่าขอบนอก (helix) จะทำให้ใบหูดูไม่เป็นธรรมชาติ

การผ่าตัดหูกาง

การผ่าตัดหูกาง มีเทคนิคการผ่าตัดหลายอย่างประกอบเข้าด้วยกัน โดยการเลือกวิธีการผ่าตัดว่าวิธีใดเหมาะสม จะต้องวิเคราะห์ที่ความผิดปกติแต่ละส่วนและแก้ไขความผิดปกตินั้นๆ ดังนั้นก่อนผ่าตัดจะต้องปรึกษาแพทย์ และบอกความต้องการให้ชัดเจนว่าต้องการแก้ไขในส่วนใดบ้าง การปรึกษาก่อนการผ่าตัด จะช่วยปรับความ ต้องการของคนไข้ ว่าเหมาะสมกับการผ่าตัดหรือไม่ และการวิเคราะห์ความผิดปกติ ของใบหูแต่ละข้าง จะช่วยให้ สามารถเลือกเทคนิคที่ถูกต้อง เหมาะสมกับความผิดปกตินั้นๆ เทคนิคที่ใช้ในการผ่าตัด หูซ้ายและหูขวา อาจไม่เหมือนกัน เนื่องจากหูข้างหนึ่ง อาจมีความแตกต่างจากหูอีกข้างหนึ่ง เช่นหูซ้ายอาจกางน้อยกว่าหูขวา มุมที่แก้ไขก็จะไม่เท่ากัน การตัดสินใจเลือกเทคนิควิธีการผ่าตัด จำเป็นต้องพิจารณาความผิดปกติของใบหูของผู้ป่วยแต่ละราย ปัญหาเรื่องหูกาง ในประเทศไทยพบมาก แต่มีปัญหาทางสังคมน้อย ผิดกับในต่างประเทศ ที่เด็กที่ไปโรงเรียนมักถูกเพื่อนล้อบ่อยๆ ทำให้ผู้ปกครอง ต้องนำมารับการผ่าตัด ตั้งแต่อายุยังน้อยอย่างไรก็ตาม การผ่าตัดหูกาง อาจทำได้ในทุกอายุ ตั้งแต่ วัยก่อนเข้าโรงเรียน โดยทั่วไปหูกางมักจะเป็นทั้ง 2 ข้าง แต่ในบางรายอาจเกิดข้างเดียวได้อายุของผู้ที่จะรับการผ่าตัดแก้ไขหูกาง ในต่างประเทศมักทำหลังอายุ 5 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่หูมีการเจริญเติบโต มากที่สุด โดยทั่วไปจะทำในอายุ 5 – 7 ปี อย่างไรก็ตาม สำหรับในประเทศไทย ปัญหาเรื่องการถูกล้อเลียน ที่โรงเรียนมีน้อยกว่า อาจทำการแก้ไข ในเด็กที่โตกว่านี้มากกว่า

การเลือกเทคนิคการผ่าตัดแก้ไขหูกาง

จำเป็นต้องเลือกและ วางแผนผ่าตัด ขณะที่ทำการปรึกษาก่อนการผ่าตัด โดยต้องวิเคราะห์ ปัญหา ความผิดปกติของใบหูนั้นๆ แล้วแพทย์ต้องตัดสินใจว่าจะใช้วิธีการใดบ้าง โดยทั่วไปสาเหตุหลักของหูกาง คือ

  1. ขอบกลางของใบหู (Ant he lix) มีลักษณะ แบนและมุมกางเกินไป
  2. คองกา (concha) ของใบหูมีขนาดใหญ่หรือลึกเกินไป

สาเหตุของหูที่กางอาจเกิดจากสาเหตุที่ 1 หรือ 2 หรือทั้ง 2 สาเหตุ การตัดสินใจว่าจะใช้การผ่าตัดใด ก็พิจารณา ปัญหาว่าเกิดจากขอบกลางของใบหูหรือ คองกา โดยทั่วไปมักเกิดจากสาเหตุแรก การผ่าตัดก็มักจะเลือกแก้ไข ในส่วนของขอบกลาง (Ant helix) แต่ในบางรายที่มีสาเหตุจาก คองกา มีขนาดใหญ่ ถ้าไม่ทำการแก้ไขในส่วนนี้ อาจทำให้รูปร่างไม่สวยงาม เนื่องจากใบหูจะแบนราบลง แต่ส่วน คองกา จะนูนขึ้นมาทำให้ดูผิดธรรมชาติ นอกจากสาเหตุทั้งสองแล้วในคนไข้ แต่ละรายต้องพิจารณาด้วยใบหูที่กางมีส่วนที่ขอบบนของใบหูและติ่งหู มีมุมกางออกด้วยหรือไม่ เพราะถ้ามีปัญหานี้ร่วมด้วย ควรต้องแก้ไขโดยต้องเย็บส่วนขอบบนและติ่งหู เพื่อให้รูปร่าง สวยงาม ถ้าไม่แก้ไข ปัญหานี้หลังจากแก้ไขหูกางแล้วจะมีปัญหาของหูรูปโทรศัพท์ได้ (Telephone ear)

รายละเอียดเพิ่มเติม

การผ่าตัด

  1. การผ่าตัดอาจทำโดยการดมยาสลบในเด็กหรือฉีดยาชาในผู้ใหญ่ ยาชาที่ใช้ฉีดในการผ่าตัดเป็นยาชาที่ผสม อดินาริน ซึ่งช่วยในการห้ามเลือดระหว่างผ่าตัด
  2. วาดรูปผิวหนังด้านหลังหูที่จะตัดและวาดรูปกระดูกอ่อนของใบหูที่จะทำการแก้ไข
  3. แก้ไข ทรงของกระดูกอ่อน โดยการเย็บเปลี่ยนมุมของกระดูกอ่อนหรือใช้การผ่าตัดบนผิวกระดูกอ่อน เพื่อเปลี่ยนมุม ของกระดูกอ่อน โดยอาจเปิดแผลทางด้านหน้าหรือด้านหลังของใบหู
  4. ในคนที่กระดูกอ่อนคองกามีขนาดใหญ่และมีมุมลึก อาจต้องแก้ไขมุมของกระดูกอ่อนนี้ โดยการเย็บหรือตัดกระดูกอ่อน
  5. ใน บางรายอาจต้องผ่าแบบแก้ไขมุมของกระดูกอ่อนด้านบน (Hatch Suture) ในผู้ที่มีการผ่าตัดข้อนี้เพิ่ม ไม่สามารถใส่แว่นตาได้จนกว่าแผลจะหาย โดยทั่วไปใช้เวลาประมาณ 2 อาทิตย์
  6. ในบางรายอาจต้องแก้ไขติ่งหูให้ราบลง โดยผ่าตัดผิวหนัง บริเวณหลังติ่งหูหรือโดยการเย็บติ่งหูเข้ากับกระดูกอ่อนหรือหนังศีรษะ
  7. เย็บปิดแผล โดยใช้ไหมเล็กลง
  8. การปิดแผลทำได้ 2 วิธี
    A.ปิดแผลแบบปกติ โดยใช้สำลีหรือผ้าก๊อซหนา ๆ ปิดรอบแผล ถ้าไม่ต้องไปทำงานในวันพรุ่งนี้

    B.ปิดแผลเล็กๆ บริเวณหลังหู ปิดเทปที่ด้านหน้าของใบหู และปิดทับด้วยผ้าคาดผม กรณีที่ต้องไปทำงาน ในวันรุ่งขึ้น วิธีนี้อาจมีปัญหาเรื่องเลือดออกได้ อาจต้องมาพบแพทย์ เพื่อตรวจแผลผ่าตัดเร็วกว่าวิธี 2

การดูแลหลังการผ่าตัด

การผ่าตัด โดยการฉีดยาชาสามารถกลับบ้านได้เลย ถ้าทำโดยวางยาสลบต้องพักที่โรงพยาบาล 1 คืน

  1. ปิดแผลไว้ประมาณ 2 วัน ในวันที่ 2 หรือ 3 แพทย์จะนัดทำแผลที่คลินิกควรระมัดระวังไม่ให้ผ้าก๊อซหรือสำลีปิดแผลหลุด
  2. หลังจากเปิดแผลแล้วให้ทายาแก้อักเสบที่แผลทั้ง 2 ข้าง วันละ 2 ครั้ง จนถึงวันตัดไหม
  3. ถ้ามีปัญหาเลือดออกมาก หรือบวมมากให้มาพบแพทย์ก่อนเวลานัดได้
  4. ใช้ผ้าคาดศีรษะให้ใบหูแนบกับศีรษะเวลานอน เป็นเวลา 2 – 3 อาทิตย์ หลังจากเปิดผ้าปิดแผล
  5. แพทย์จะนัดตรวจอีกครั้ง ประมาณ 1 อาทิตย์
  6. ตัดไหม ประมาณ 2 อาทิตย์
  7. งดดื่มสุราและบุหรี่ ประมาณ 1 อาทิตย์
  8. โดยทั่วไปหลังผ่าตัดตกแต่งใบหูจะไม่ปวดมากยกเว้น ถ้ามีการกดทับบริเวณใบหู
  9. หลังจากเปิดแผลในวันที่ 2 หรือ 3 สามารถสระผมได้
  10. ในช่วง 2 อาทิตย์แรก ห้ามใช้ไดรเป่าผมที่ให้ลมร้อน เพราะอาจทำให้เกิดแผลจากความร้อนที่ใบหูได้
  11. งดทำกิจกรรมบางประเภท เช่น มวยปล้ำ ประมาณ 4 อาทิตย์
  12. สามารถไปทำงานได้ในวันรุ่งขึ้น
  13. งดเล่นกีฬาหนัก ประมาณ 1 อาทิตย์
  14. เด็กเล็กให้หยุด ประมาณ 7 วัน หลังผ่าตัดและงดให้เล่นกีฬาและงดเล่นยิมนาสติก 2 อาทิตย์
  15. โดยทั่วไป อาการบวมและเขียวจะมีไม่มาก
  16. โดยทั่วไป อาการบวมที่ใบหูจะดีขึ้นเมื่อ 2 – 4 อาทิตย์
  17. ใช้ น้ำเกลือเช็ดแผลและทายาฆ่าเชื้อที่บริเวณด้านหลังของใบหูวันละครั้ง และปิดทับด้วยผ้าก๊อซ และผ้าคาดศีรษะ ประมาณ 1 อาทิตย์ หลังจาก 1 อาทิตย์ ไม่ต้องใช้ผ้าก๊อสปิดแผลใช้ผ้าคาดศรีษะคาดทับใบหูได้เลย
  18. ใน 2 อาทิตย์แรก ไม่ควรนอนตะแคง ควรนอนหงาย ไม่นอนทับใบหู

ปัญหาที่อาจเกิดหลังผ่าตัด

  • โดยทั่วไป ความคาดหวังหลังการผ่าตัดควรทำให้ใบหูมีลักษณะสวยงาม แต่เป็นธรรมชาติ การผ่าตัดที่มีใบหูพับงอมากเกินไป จนกระทั่งติดด้านข้างของศีรษะมากเกินไป ถือเป็นการแก้ไขที่มากเกินธรรมชาติและผลที่ออกมาก็ดูไม่สวยงาม
  • การงอใบหูมากเกินไป ทำให้ขอบกลาง (anti helix) ของใบหูนูนเกิน ในกรณีนี้อาจเกิดจากการที่คองกามีขนาดใหญ่และลึก แต่ไม่ได้ผ่าตัดบริเวณคองกาทำให้ต้องงอบริเวณขอบกลางมากจนเกินปกติ
  • ใบหูโทรศัพท์ (Telephone ear) เกิดจากการไม่สมดุลในการงอกระดูกอ่อนของใบหู โดยที่พับงอ บางส่วนกลางใบหูแต่ส่วนบนและส่วนล่างไม่ได้พับงอ